จัดเลี้ยงนอกสถานที่: เคล็ดลับควรรู้ในการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลเป็นสไตล์การจัดอาหารยอดนิยมในงานสังสรรค์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงแบบไม่เป็นทางการ ที่ต้องการให้แขกได้พูดคุยทักทายกันอย่างเป็นกันเอง เช่นงานฉลองพิธีมงคลสมรส งานเลี้ยงปีใหม่บริษัท นอกจากนี้การจัดอาหารทั้งคาวและหวานในการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลก็ทำได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งบทความนี้จะแนะนำเคล็ดลับควรรู้ในการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มางาน
1. เลือกอาหารเครื่องดื่มให้หลากหลาย
จุดเด่นอย่างหนึ่งของการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลก็คือเจ้าภาพสามารถเลือกอาหารให้มีความหลากหลาย ให้แขกที่มาในงานได้ชิมอาหารหลาย ๆ อย่าง อาหารมักจะถูกจัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอคำ ทำให้ผู้ที่มางานรู้สึกสนุกในการรับประทานอาหาร และเจ้าภาพก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมคำนึงถึงความเข้ากันได้ของรสชาติของอาหารแต่ละอย่าง
และควรเน้นการเลือกเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันในแต่ละแบบ มีทั้งผัก อาหารทะเลและเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ มีทั้งความกรอบ ความนุ่ม ซอสที่ชุ่มฉ่ำ เพื่อให้ผู้มาร่วมงานผสมผสานอาหารหลาย ๆ ชนิดเอง และทำให้เกิดความหลากหลายในจานมากขึ้น เนื่องจากงานเลี้ยงค็อกเทลมักจะไม่มีโต๊ะให้แขกนั่งและใช้ช้อนส้อมได้สะดวกจึงควรต้องคำนึงถึงความสะดวกในการรับประทานอาหารแต่ละอย่างด้วย ควรเลือกอาหารที่รับประทานง่าย ไม่เปื้อนมือขณะรับประทาน ก็จะทำให้ถูกใจแขกที่มามากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลน่าสนใจก็คือการเลือกเครื่องดื่มให้เข้ากับอาหาร เพื่อดึงเอารสชาติอาหารออกมา เช่น จับคู่ไวน์แดงกับมินิเบอร์เกอร์เนื้อวัวหรือพายเนื้อ จับคู่กุ้งค็อกเทลกับไวน์ขาว หรือหากเป็นการจัดเลี้ยงค็อกเทลมื้อบ่ายก็ควรจับคู่กับกาแฟหรือชาหอม ๆ จะทำให้เสริมรสชาติของอาหารให้กลมกล่อมมากขึ้น นอกจากนี้เจ้าภาพควรจัดน้ำดื่ม น้ำอัดลมและน้ำแข็งในปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนแขกที่มาร่วมงานก็จะทำให้การจัดเลี้ยงถูกใจแขกที่มาร่วมงานมากขึ้น
2. เลือกอาหารให้เหมาะกับแขกที่มางาน
การเลือกอาหารในงานจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล ควรเลือกโดยเน้นความชอบของแขกที่มาในงานรวมถึงช่วงอายุ ถ้าแขกในงานเป็นผู้ชาย ควรเลือกเมนูที่อิ่มท้องนานหน่อย เช่นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มินิเบอร์เกอร์ หรือชีส หากแขกในงานส่วนมากเป็นผู้หญิง อาจเน้นอาหารเบา ๆ แต่อยู่ท้อง เช่นเมนูที่มีส่วนประกอบของผัก เช่นสลัดผักและกุ้งในแก้วที่ตกแต่งให้มีความเก๋มากขึ้น หรือเมนูที่มีรสจัด เช่นยำ ส้มตำ หากมีเด็กมาร่วมงานอาจเลือกเมนูรับประทานง่าย ไม่เผ็ด และควรเลือกเมนูอาหารที่รสชาติไม่จัด ย่อยง่ายให้กับแขกผู้ใหญ่ที่มาในงานด้วย นอกจากนี้ควรใส่ใจในการเลือกขนมอร่อยๆ การตกแต่งน่ารักมาเสิร์ฟในงานเพื่อทำให้มื้ออาหารจบลงด้วยความสุข
นอกจากนี้หากเจ้าภาพทราบความต้องการพิเศษของแขกที่มาในงาน เช่นแขกที่ต้องการรับประทานอาหารมังสวิรัติหรือแขกบางท่านอาจรับประทานเนื้อสัตว์บางชนิดไม่ได้ การมีตัวเลือกที่หลากหลายก็จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของแขกที่มาร่วมงานได้เป็นอย่างดี และหากต้องสั่งอาหารสำหรับคนจำนวนมากเจ้าภาพอาจจะขอข้อมูลการรับประทานอาหารของผู้ร่วมงานระหว่างการเตรียมงาน เพื่อที่จะสามารถคำนวณปริมาณอาหารที่ต้องเตรียมได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
3. เพิ่มซุ้มอาหารปรุงสดใหม่เพื่อเพิ่มสีสัน
ในการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการวางแผนเลือกซุ้มอาหารแบบปรุงสดมาเสิร์ฟในงาน เช่น ซุ้มอาหารญี่ปุ่นที่มีเชฟทำซูชิหรือซาชิมิตามสั่ง หรือซุ้มแฮมหรือปลาแซลมอนย่างแล่ทั้งตัว หรือซุ้มอาหารหวานเช่นฟองดูช็อกโกแลตพร้อมผลไม้สดก็เป็นทางเลือกที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับมื้ออาหารสุดพิเศษ เพราะหลาย ๆ คนชอบรับประทานอาหารที่ปรุงแบบสดใหม่ ที่เปิดโอกาสให้เลือกส่วนผสมด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามอาหารประเภทนี้มักได้รับความนิยมสูงและมักจะหมดก่อน จึงควรวางแผนสั่งอย่างรอบคอบ และเตรียมอาหารให้มีปริมาณที่เพียงพอเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาถึงงานทีหลังมีโอกาสได้รับประทานด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงการวางแผนสั่งอาหารแบบปรุงสดคือผู้ที่ให้บริการต้องมีความชำนาญ เพื่อปรุงอาหารให้เสร็จในเวลาอันรวดเร็วเพื่อรองรับการเสิร์ฟอาหารสำหรับคนจำนวนมากที่มาถึงงานพร้อม ๆ กัน เพราะหากขาดความชำนาญและทำอาหารช้าทำให้แขกต้องยืนรอนาน ก็จะทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ และทางเลือกอีกอย่างก็คือการจัดจำนวนซุ้มให้มากขึ้นเพื่อที่แขกจะไม่ต้องรอนาน และจะทำให้การบริหารการจัดเสิร์ฟเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
4. กำหนดธีมเพิ่มความครีเอทีฟ
ธีมการจัดเลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกของผู้ที่มาร่วมงาน การจัดอาหารให้เข้ากับธีมงานก็เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสีสันและสร้างความประทับใจให้กับผู้มาร่วมงาน เช่นหากงานเน้นความหรูหรา อาหารและเครื่องดื่มก็ควรเน้นการตกแต่งที่หรูหราไปด้วยเพื่อความตื่นตาตื่นใจ เช่นมีอาหารทะเลเสิร์ฟพร้อมแชมเปญ และมีการประดับตกแต่งซุ้มด้วยสีทอง หรือหากธีมงานเป็นแบบกันเองเช่น ปาร์ตี้ในสวนหรือบาร์บีคิวในสวน หรือในฟาร์มก็ควรตกแต่งซุ้มอาหารด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่สื่อถึงธีมงาน เสิร์ฟเบียร์พร้อมกับอาหารปิ้งย่าง บาร์บีคิวที่มีเชฟมาปรุงให้สด ๆ ก็จะทำให้แขกให้ความสนใจกับการรับประทานอาหาร และใช้เวลาถ่ายรูปกับกลุ่มเพื่อนฝูง เพื่อบันทึกความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับงานเลี้ยงไปได้อีกนาน
5. คำนวณปริมาณอาหารให้แม่นยำ
เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างที่เจ้าภาพไม่ควรลืมก็คือการคำนวณปริมาณอาหารและเครื่องดื่มให้พอดีกับผู้ที่มาร่วมงาน เพราะงานเลี้ยงโดยส่วนใหญ่ เช่นงานฉลองมงคลสมรส แขกที่มาในงานมักจะมีผู้ติดตาม 1 คน ดังนั้นจึงควรเผื่อปริมาณอาหารและเครื่องดื่มไว้มากพอสมควร เพื่อที่แขกทุกคนจะได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอและกลับจากงานเลี้ยงด้วยความสุข แต่ไม่ควรจัดอาหารมากเกินความจำเป็นเพราะจะทำให้อาหารเหลือทิ้งและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
6. คำนวณจำนวนผู้ให้บริการให้เพียงพอ
ในการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล แม้แขกส่วนมากจะยืนและเดินไปตักอาหารได้เอง แต่เจ้าภาพก็ควรคำนึงถึงจำนวนพนักงานที่มาให้บริการแขกที่มาในงานให้เพียงพอ เพราะหากมีจำนวนน้อยเกินไปอาจทำให้การบริการสะดุด เช่นเสิร์ฟเครื่องดื่มหรือเก็บจานที่วางทิ้งไว้บนโต๊ะกลางไม่ทัน ทำให้บางครั้งแขกวางจานบนโต๊ะไม่สะดวกก็จะรับประทานอาหารได้น้อย ดังนั้นเจ้าภาพควรสั่งอาหารจำนวนพอเหมาะเพื่อที่ทาง catering จะได้จัดพนักงานมาให้บริการแขกที่มาร่วมงานอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ควรจัดโต๊ะเก้าอี้เอาไว้ในมุมที่เสียงดนตรีไม่ดังจนเกินไปเพื่อรับรองแขกผู้ใหญ่ เพราะแขกผู้ใหญ่ไม่สามารถยืนเป็นเวลานานได้ นอกจากนี้ควรจัดให้มีพนักงานเดินไปตักอาหารมาบริการที่โต๊ะ เพราะแขกผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่สะดวกที่จะเดินไปตักอาหารด้วยตัวเอง นอกจากนี้ควรมีจำนวนพนักงานในครัวให้เพียงพอที่จะเติมอาหารทันทีที่อาหารพร่องไป เพื่อให้คนที่มาถึงงานที่หลังรู้สึกว่าอาหารสดใหม่พร้อมเสิร์ฟราวกับงานเพิ่งเริ่มอยู่เสมอ
7. ควรลองชิมรสชาติอาหารก่อนตกลงสั่งเสมอ
ก่อนตัดสินใจสั่งอาหารจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลจากผู้ให้บริการหน้าใหม่ ควรหาข้อมูลและขอทดสอบอาหารก่อนเสมอ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าแขกที่มางานทุกคนได้รับประทานอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ เพราะนอกจากการตกแต่งซุ้มอาหารที่สวยงามและหน้าตาอาหารที่น่ารับประทานแล้ว ความอร่อยก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกอาหาร นอกจากนี้ไม่ควรยึดความชอบของผู้สั่งอาหารเป็นหลัก แต่การเลือกเมนูควรเลือกให้มีครบทุกรูปแบบและครบทุกรสชาติเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มาร่วมงาน
8. คำนึงถึงความสะดวกและรูปแบบของงาน
การจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล แขกที่มาร่วมงานสามารถยืนทานอาหารได้สบาย ๆ และสามารถพูดคุยกับแขกคนอื่นในงานได้อย่างทั่วถึง จึงสะดวกและตอบโจทย์งานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากห้องประชุมมีพื้นที่แคบ หรือไม่มีที่นั่งรับประทานอาหารก็สามารถจัดได้อย่างไม่มีปัญหา การเลือกอาหารควรคำนึงถึงเวลาจัดเลี้ยงด้วย หากเป็นการจัดเลี้ยงระหว่างมื้อเช่นมื้อสาย หรือมื้อบ่าย อาจเลือกเมนูค็อกเทลเบาๆ เช่น แซนด์วิช หรือพายที่มาพร้อมกับเตาอุ่น ก็สามารถทดแทนการจัด coffee break ได้อย่างสวยงาม ช่วยเพิ่มสีสันและสร้างบรรยากาศผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี และทำให้แขกไม่หิวมากเกินไปก่อนถึงเวลาอาหารมื้อกลางวันหรือเย็น
หากเป็นการจัดเลี้ยงมื้อหนัก เช่นมื้อเที่ยง หรือมื้อเย็น ควรเลือกอาหารให้มีปริมาณมากพอที่จะทานได้อิ่ม หรือมีจำนวนอาหารมากกว่า 10 รายการขึ้นไป โดยแบ่งเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยและตามด้วยอาหารที่หนักขึ้นมาหน่อย และจบด้วยผลไม้และของหวาน และหากพื้นที่จัดงานอำนวยอาจเสริมด้วยอาหารปรุงสด ๆ จากเชฟ หรือซุ้มอาหารแบบออกร้านที่ค่อนข้างอยู่ท้องเช่นกระเพาะปลา หรือข้าวมันไก่จานเล็ก ก็จะทำให้แขกอิ่มท้องและร่วมสนุกกับงานได้อย่างไม่รู้เบื่อ
9. มีกิจกรรมให้แขกได้ร่วมสนุก
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้การจัดเลี้ยงค็อกเทลเป็นที่น่าจดจำคือการมีกิจกรรมให้แขกที่มาร่วมงานได้ร่วมสนุกหรือมีของที่ระลึกกลับบ้าน เพราะแขกส่วนใหญ่มักจะเดินไปเดินมาอยู่แล้ว การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ซุ้มเกมประลองความแม่นยำ เช่นเกมโยนห่วง การประกวดการแต่งกายที่โดดเด่นที่สุดตามธีมของงานเลี้ยง หรือการจัดพื้นที่เต้นรำและเชิญวงดนตรีเข้ามาช่วยเพิ่มความสนุกในงาน ก็จะช่วยสร้างสีสันและเพิ่มความสนุกให้กับงานเลี้ยงอยู่เสมอ เนื่องจากการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลไม่ต้องมีการจัดโต๊ะในการรับประทานอาหารมากมายนัก แขกที่มาร่วมงานก็สามารถสนุกกับการเต้นรำบนเวทีที่จัดไว้ให้ได้ และอย่าลืมเลือกวงดนตรีที่มีความเชี่ยวชาญในการเชิญชวนให้แขกร่วมสนุก และจัดหาทีมงานที่พร้อมด้วยเครื่องเสียงและไฟสำหรับงานเลี้ยงแบบมืออาชีพ ก็จะทำให้การฟังดนตรีรื่นหู ช่วยดึงให้แขกมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น